กินนมทีไร ท้องเสียตลอด ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) เรื่องนี้ DNA มีคำตอบ
Posted On 29 April 2022
DNAcanvas Admin
•1 minute read
เคยสงสัยกินไหมว่าทำไมตอนเด็ก ๆ เรากินนมได้ปกติ แต่พอเป็นผู้ใหญ่เราไม่สามารถกินนมได้ในปริมาณมากเท่าแต่ก่อน พอกินแล้วเกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้และท้องร่วง อาการเหล่านี้คือการแสดงอาการของภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance)
เมื่อเรากินนม ร่างกายของเราจะเกิดการย่อยอาหารตามปกติ ซึ่งการย่อยนมนั้นจำเป็นต้องใข้เอนไซม์ที่ชื่อว่า แล็กเทส (Lactase) เพื่อย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ แล็กโทส (Lactose) ในนม ให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว กลูโคส (Glucose) และกาแล็กโทส (Galactose) ถ้าร่างกายของเราขาดเอนไซม์แล็กเทสนี้ เราจะไม่สามารถย่อยนมในบริเวณลำไส้เล็กได้และส่งผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้แบคทีเรียต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นใช้นมนี้เป็นแหล่งพลังงานและสร้างแก๊สและสารชนิดอื่น ๆ ขึ้นมา ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายขึ้น
ในตอนเด็กร่างกายของเรามีความสามารถในการผลิตเอนไซม์แล็กเทสเพื่อใช้ในการย่อยน้ำนมของแม่ เอนไซม์นี้จะมีการผลิตน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเราโตขึ้นและมีการเปลี่ยนรูปแบบการกินของอาหาร นอกจากนี้เอนไซม์นี้อาจมีการผลิตน้อยลงเมื่อลำไส้เล็กของเรามีอาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดหรือโรคต่าง ๆ อีกด้วย
เอนไซม์แล็กเทสในร่างกายมนุษย์ถูกผลิตมาจากยีน LCT โดยที่มียีน MCM6 ควบคุมอยู่ ซี่งยีน MCM6 ในปัจจุบันมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในคนแต่ละเชื้อชาติ (Several genetic variants, SNPs) ทำให้ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องของคนแต่ละเชื้อชาตินั้นมีความแตกต่างกัน
ชาวยุโรปมีความแตกต่างในยีน MCM6 ที่สามารถทำให้ย่อยแล็กโทสได้แม้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากชาวเอเชีย สันนิษฐานได้ว่าการที่ชาวยุโรปสามารถย่อยแล็กโทสได้มาจากรูปการใช้ชีวิตในสมัยก่อนที่มีการเลี้ยงสัตว์และกินอาหารที่ทำมาจากผลิตภัณฑ์จากนมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ชาวยุโรปรุ่นหลังสามารกินอาหารจากนมได้เป็นปกติโดยที่ไม่มีอาการไม่พึงประสงค์เยอะเหมือนชาวเอเชีย
แหล่งอ่างอิง
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15114531/
SHARE